วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

การใช้ศิลปะเป็นสื่อการเรียนรู้


 การใช้ศิลปะเป็นสื่อการเรียนรู้



ที่มา : วารสารการศึกษาปฐมวัย Thai Journal of Early Childhood Education ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม พ.ศ. 2547
โดย : รศ.ดร. กุลยา ตันติผลาชีวะ สาขาการศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
รวบรวมโดย : สถาบันเด็ก มูลนิธิเด็ก

ศิลปะ เป็นกิจกรรมของการแสดงออกความรู้ ความคิด และจินตนาการ ซึ่งสามารถนำลักษณะของความงาม และการได้ระบายออกทางอารมณ์มาเป็นสื่อการเรียนรู้ ที่สร้างให้เกิดความจำและความเข้าใจดียิ่งขึ้น


การส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา สำหรับเด็กปฐมวัยเป็นภารกิจของครู และผู้ปกครองที่สำคัญยิ่งเพราะวัย 6 ขวบแรกมีพัฒนาแต่ละด้านเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสมองจะมีพัฒนาการกว่าร้อยละ 90 ของวัยผู้ใหญ่ ฉะนั้นหากเด็กได้รับการสร้างเสริมที่ถูกต้อง ย่อมเป็นการช่วยให้พัฒนาการด้านรวมทั้งสติปัญญาเป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ นักการศึกษาปฐมวัยได้พยายามศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อหาแนวทางที่จะช่วยให้การเรียนการสอน เป็นตัวสร้างเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโดยวัยของเด็กและพัฒนาการจะพบว่า ศิลปะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย
วิธีการเรียนรู้ของเด็ก

การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางปัญญาที่เกิดจากการซึมซับประสบการณ์และรับไว้จนเกิดเป็นข้อความรู้ พิอาเจท์ (Piaget) เชื่อว่าการเรียนรู้ของเด็กเกิดจากกระบวนการปรับตัว (adaptive process) ที่มีขั้นตอนการเกิดขึ้นเหมือนกับการปรับตัวทางด้านร่างกาย ที่เด็กเรียนรู้ได้จากการรับและสะท้อนผลจนเกิดเป็นพัฒนาการทางสติปัญญา กระบวนการปรับตัวนี้ประกอบด้วย กระบวนการปฏิสัมพันธ์ 2 ประการ คือ การซึมซับ (assimilation) กับการรับไว้ (accommodation) เด็กจะซึมซับข้อมูลจากการสัมผัสประสบการณ์ที่ดีและข้อมูลความรู้ที่ได้แล้วผ่านเข้าไปสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนไปสู่การรับเป็นแนวคิดเป็นพฤติกรรม หรือเป็นความเชื่อ กระบวนการปฏิสัมพันธ์ทั้ง 2 จะทำงานเชื่อมสานกันเรียกว่า กระบวนการปรับตัว ซึ่งจะต้องอยู่ในภาวะสมดุล จึงเกิดการเรียนรู้แล้วเก็บเป็นหน่วยการเรียนรู้เกิดขึ้น (schemes) (Morrison, 2000 : 100-101)
หน่วยความรู้ (schemes) เป็นโครงสร้างของปัญญาที่บ่งบอกถึงการจัดระเบียบข้อความรู้ ซึ่งความรู้ที่เกิดขึ้นนี้อาจเปลี่ยนไปได้ตามประสบการณ์ที่ได้รับ ประสบการณ์มากการเรียนรู้และเข้าใจจะมากขึ้น เด็กเรียนรู้ได้ดีจากการได้สัมผัส หยิบจับ ได้เล่นหรือได้จากประสบการณ์ตรงในขณะที่เด็กได้รับประสบการณ์ เด็กได้ทำกิจกรรมหรือเด็กได้เล่น เด็กจะเรียนรู้จากการสัมผัสและจากการสังเกตการเปลี่ยนแปลงในตัววัสดุที่พบเกิดเป็นองค์ความรู้ ซึ่งองค์ความรู้ที่ได้รับนี้จะพัฒนาอย่างเป็นกระบวนการ ทำให้เกิดกระจ่างรู้ซึ่งจะเร็วช้าในแต่ละคนต่างกัน แต่จะมีกระบวนการสะสมข้อมูลเป็นหน่วยความรู้เหมือนกัน การให้ประสบการณ์อย่างเดียวกันซ้ำ ๆ จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้เข้าใจและจำได้

การสร้างความจำ
การจำมีความสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้ที่ดีเกิดจากผู้นั้นมีการสะสมความรู้ สำหรับเป็นฐานความคิดและพัฒนาความงอกงามของปัญญาไว้แล้วสามารถนำมาเชื่อมโยงกันได้ ด้วยความสำคัญของการจำให้คนพยายามที่จะค้นหาวิธีการสร้างความจำให้เกิดขึ้นการท่องจำเป็นวิธีการหนึ่งที่มีการนำมาใช้มาก เพราะเชื่อว่าจะทำให้สามารถจำและเก็บนำไปใช้ได้ทันที ซึ่งจากการศึกษาในระยะหลังพบว่าการท่องเป็นการสร้างความจำได้ แต่ไม่ได้หมายถึงความเข้าใจ การท่องเป็นการเก็บงำความรู้ไว้ในสมอง ส่วนการนำกลับมาใช้เป็นการไตร่ตรองการคิด ดังนั้นการจำด้วยการท่องจึงมีความจำกัด อีกทั้งอัตราการจำด้วยการท่องมีน้อย น้อยกว่าการจำด้วยความเข้าใจ หรือประทับใจ สำหรับการเรียนรู้ของคน มีระบบความจำ อยู่ 3 ระบบ คือ ระบบการจำจากสัมผัส ระบบการจำระยะสั้น และระบบการจำระยะยาว

ระบบการจำจากการสัมผัสเป็นภาวะการสะท้อนผลของการสังเกตและจำเร็ว เช่น จำได้เพราะเห็นแว็บ ๆ เห็นผ่าน ๆ ส่วนระบบการจำระยะสั้น เป็นการเก็บข้อมูลที่จำนวนไม่มาก ถ้าไม่ได้ฟังซ้ำจะลืม แต่สิ่งที่คนต้องการคือความจำระยะยาว ซึ่งลักษณะการจำอาจเป็นจำภาพได้ จำแล้วอธิบายได้ หรือจำแล้วกระทำได้ การจำทุกชนิดมีโอกาสลืมแต่ลืมเร็วลืมช้าต่างกัน วิธีการสร้างความจำมีหลายวิธีวิธีแรกคือ การบันทึก การท่อง การท่องและเขียน การทำรหัสบันทึกย่อ การเล่ารื่อง การหาประสบการณ์เสริม แต่ละกระบวนวิธีสร้างความจำดังกล่าวให้ผลต่อระยะการจำแตกต่างกันมาก จำเป็นต้องค้นหาเครื่องมือมาสร้างความจำ ด้วยการทำให้เกิดการคิด จินตนาการเชื่อมโยง ที่นำไปสู่การเก็บความจำไว้ในสมองได้นาน เช่น การเชื่อมโยงสาระให้เกิดจำ หรือใช้สถานที่เป็นตัวกำหนดการจำ หรือแต่งโคลงคล้องจองต่อเนื่อง วิธีการเหล่านี้เรียกว่า Mnemonic (นิ-มอน-อิค) devices เป็นเทคนิคช่วยการจำ (Roediger lll, 1984 : 266) ความจำมีความสำคัญเพราะจะช่วยให้เกิดการสะสมหน่วยความรู้ (schemes) ซึ่งประสบการณ์ต่อ ๆ ไปจะขยายองค์ความรู้ให้กว้างขวางมากขึ้น สำหรับความจำนี้เด็กอายุมากขึ้น จะจำได้แม่นยำ และนานขึ้น แต่เมื่อเป็นผู้ใหญ่ความจำจะถอยลงตามสมรรถภาพของสมอง<![endif]>
การกระตุ้นความจำเพื่อการเรียนรู้ด้วยงานศิลปะ

ดังกล่าวแล้วว่าได้มีผู้พยายามพัฒนาวิธีการสร้างความสามารถในการจำของคนให้สูงขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยเน้นองค์ประกอบสำคัญของการจำคือ ความสั้นง่าย น่าสนใจ และสนุกกับการจำ หากสิ่งที่กำลังจำนั้นสร้างให้เกิดความพอใจ โอกาสที่เด็กจะจำได้นานมีสูง เด็กที่จำได้มีโอกาสที่จะเรียนได้เร็วและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ มีมาก ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอนจึงพบว่ามีการกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยความเพลิดเพลินและความสนใจของเด็ก ต่อมาระยะหลังได้มีผู้นำศิลปะมาใช้เป็นสื่อในการเรียนรู้ ซึ่งมิใช่เพื่อให้มีการแสดงออกในตนเองและจินตนาการเท่านั้น ยังเป็นการสร้างความเพลิดเพลินให้กับครูและเด็ก เด็กสามารถรู้ว่าตนเองรู้อะไร คิดอย่างไร และจะบอกหรือสื่อให้ใครรู้ การจัดการเรียนการสอนแบบเรกจิโอ เอมิเลีย เป็นการเรียนการสอนรูปแบบหนึ่งที่เน้นให้เด็กถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ผ่านผลงานศิลปะ อาจเป็นการวาดภาพงานปั้น งานแต่ง ไม่ว่าเด็กจะคิดทำสิ่งใด เด็กต้องสื่อความคิด แผนงานและจินตนาการของตนเองผ่านทางศิลปะ

ศิลปะช่วยให้เด็กเชื่อสานและบูรณาการประสบการณ์ที่มี เด็กสามารถผสมผสานความรู้วิทยาศาสตร์ สังคม คณิตศาสตร์ ภาษาลงในศิลปะที่เด็กแสดงออก การจัดการเรียนการสอนแบบเรกจิโอ เอมีเลีย (Reggio Emilia) ได้เน้นการใช้ศิลปะเป็นแกนประสบการณ์การเรียนรู้ โดยใช้โครงการเป็นฐานของการเรียน ซึ่งปกติแล้วการเรียนแบบโครงการ (project approach) จะเน้นให้เด็กเล่นและเรียนในสิ่งที่เด็กสนใจหรือสิ่งที่ครูริเริ่ม โดยสนองตอบความต้องการของเด็ก เด็กได้เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมและแสดงออกอย่างอิสระ สื่อศิลปะเป็นรูปแบบโดยธรรมชาติ ที่ทำให้มีการแสดงออกและการค้นคว้าที่นำไปสู่การเรียนรู้ของเด็กและเข้าใจโลก (Gordon and Browne, 1993 : 362) ซึ่งทำให้เด็กได้คิดพัฒนาสร้างสรรค์ จากการถ่ายโยงภาพที่เห็นเป็นศิลปะของการเรียนรู้ที่สำคัญ เด็กได้ทั้งสุนทรีภาพในงานศิลปะควบคู่ไปกับการเรียนสาระวิชา

ด้วยลักษณะของศิลปะ นักการศึกษา จึงได้นำศิลปะมาเป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่บูรณาการความรู้สึกที่ดีของเด็ก กับหน่วยประสบการณ์ของเด็กไปสู่สาระหลักฐานที่จะเรียนรู้ เพื่อเป็นการจูงใจสร้างการมีส่วนร่วมที่เรียและการเรียนรู้ (Brewer, 1995 : 320 อ้างถึง Edwards) ซึ่งการนำศิลปะมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนอนุบาลอย่างน้อยมี 3 ลักษณะดังนี้ (Brewer, 1995 : 320)

1.ใช้เป็นกิจกรรมเพื่อการส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จินตนาการ ผ่อนคลายความเครียด เพลิดเพลิน สนุกสนาน และการพัฒนากล้ามเนื้อมือ ความสัมพันธ์ของประสาทระหว่างตากับมือ
2.ใช้เพื่อสร้างเสริมพัฒนาการแบบบูรณาการ การจัดกิจกรรมศิลปะจะเน้นการมีส่วนร่วม การแก้ปัญหา การทำงานเป็นกลุ่มการปรับตัวในการทำงาน การสร้างนิสัยทางสังคมที่ดี

3.ใช้เพื่อการสร้างการเรียนรู้ทางวิชาการ ซึ่งศิลปะสามารถสื่อและนำมาใช้ได้ เพราะจะทำให้เด็กได้เข้าใจ จำ และถ่ายทอดสิ่งนรู้ออกมาก โดยเฉพาะศิลปะสร้างสรรค์จะช่วยให้เด็กเรียนรู้สาระวิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา และเนื้อหาวิชาอื่น ๆ ได้
จุดประสงค์ของการใช้ศิลปะในการเรียนการสอน
กระทรวงศึกษาธิการได้จัดให้ศิลปะเป็นกิจกรรมจำเป็นอย่างหนึ่ง สำหรับเด็กปฐมวัยในกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อช่วยให้เด็กแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดริเริ่ม ความคิดสร้างสรรค์ และจินตนาการ โดยใช้ศิลปะ (กระทรวงศึกษาธิการ, 2540 : 27) ตัวอย่างเช่น วาดภาพ ระบายสี, ฉีก ปะกระดาษ, ปั้น, ประดิษฐเศษวัสดุ

ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2546 ให้ความสำคัญกับกิจกรรมศิลปะมากโดยกำหนดอยู่ในชั่วโมงกิจกรรสร้างสรรค์ และในทุกโรงเรียนต่างให้ต่างจัดกิจกรรมศิลปะ ให้กับเด็กทุกวันไม่ว่าจะเป็นวาดภาพ ระบายสี ปั้นประดิษฐ์ เล่นดนตรี หรือบางแห่งมีการแสดงด้วยประโยชน์นี้ได้จากศิลปะคือ (Jalongo, 1990 : 196)

1. การสร้างงานศิลปะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้จากภายในแล้วถ่ายออกสู่ภายนอก เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการสะท้อนผล

2. การแสดงออกทางศิลปะ ส่งเสริมความสามารถของเด็กในการแปลสัญลักษณ์

3. การแสดงออกทางศิลปะ สร้างเสริมความสามารถของเด็กในการแปลสัญลักษณ์

4. การแสดงออกทางศิลปะทำให้เด็กเป็นผู้ทำอย่างมีความหมายและเป็นผู้สร้าง เป็นผู้ค้นพบ และทำความรู้ให้เป็นรูปร่างขึ้นมากกว่าเป็นผู้รับรู้ในสิ่งที่รู้แล้ว

การให้เด็กปฐมวัยมีกิจกรรมศิลปะนั้นจุดหมายสำคัญอยู่ที่การส่งเสริมการพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก การส่งเสริมพัฒนาการ ซึ่งในแง่การศึกษาการนำศิลปะศึกษามาใช้ประโยชน์ทางการศึกษาเพื่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการเตรียมเด็กให้โตขึ้นเป็นศิลปิน หรือจิตรกร (เลิศ อานันทะ, 2535 : 44)

การแสดงออกที่เด็กสามารถวาดภาพได้ดีนั้น ขึ้นอยู่กับทักษะการใช้มือตามระดับสติปัญญาทางศิลปะ ความคล่องแคล่วในการเรียนรู้จินตนาการ การสร้างสรรค์และความสามารถในการตัดสินใจด้านสุนทรียภาพ การเลี้ยงดู ดังนั้นการที่เด็กแสดงความสามารถทางศิลปะได้เด่นชัดไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินเสมอไป (ศรียา นิยมธรรม, 2545 : 53)
ประเภทของศิลปะที่ใช้ในการสร้างการเรียนรู้

ดังกล่าวมาแล้วว่าศิลปะสามารถสร้างสรรค์การเรียนรู้ได้ อย่าลืมว่าเป้าหมายของการจัดการศึกษาปฐมวัย เน้นที่การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาสติปัญญา ซึ่งศิลปะจะเป็นแกนของการพัฒนาได้ เพราะเด็กได้แสดงออกถึงพุทธิปัญญาทั้งหมดที่มีและกระบวนการเรียนรู้ผ่านทางศิลปะ เด็กเล็กต้องสัมผัสและการกระตุ้นสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้ ศิลปะเป็นกิจกรรมที่เด็กสัมผัสได้ สามารถระบายความคิด ความรู้ และสื่อบอกให้คนอื่นรู้ นอกจากนั้น ศิลปะยังเป็นกิจกรรมที่เพลิดเพลินที่กระตุ้นการเรียนรู้ ซึ่งการนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ จำแนกได้เป็น 6 ลักษณะดังนี้
ย้ำการเรียนรู้ด้วยศิลปะ เรียกว่า ศิลปะย้ำ
ถ่ายทอดการเรียนรู้ศิลปะ เรียกว่า ศิลปะถ่ายโยง
ปรับภาพการเรียนรู้เป็นงานศิลป์ เรียกว่า ศิลปะปรับภาพ
เปลี่ยนสิ่งเรียนรู้ส่งงานศิลป์ เรียกว่าศิลปะเปลี่ยนแบบ
บูรณาการการเรียนรู้ที่สู่ศิลปะ เรียกว่า ศิลปะบูรณาการ
ค้นหาความรู้จากศิลปะ เรียกว่า ศิลปะค้นหา
ศิลปะย้ำ

การเรียนรู้ไม่ใช่การท่องจำ แต่การจำเป็นฐานของการเรียนรู้ การจำทำให้คนเกิดวิธีการสร้างความจำ มีหลายวิธีโดยเฉพาะที่ใช้กันมากคือท่องจำ เขียนซ้ำหลาย ๆ จบ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความจำระยะสั้น การเข้าใจจะทำให้เกิดความจำระยะยาวส่วนหนึ่ง ซึ่งถ้าเสริมซ้ำจะทำให้การจำระยะยาวมีเพิ่มมากขึ้น การใช้ศิลปะอย่างหนึ่งคือการนำศิลปะมาย้ำการเรียนรู้เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ครูสามารถจัดเป็นกิจกรรมขณะเรียนหรือให้เป็นการบ้าน ด้วยการให้ระบายสีลงในรูปภาพที่เรียน ตัวอย่างเช่น เด็กเรียน ก. ไก่แล้ว เพื่อให้จำได้ ครูมอบหมายให้เด็กระบายสีอักษร ก. และระบายสีภาพไก่ในใบงานต่อไปนี้ ศิลปะย้ำนี้ใช้ เพื่อสร้างเสริมการจำจากความประทับใจขณะทำกิจกรรมศิลปะ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น